ย้อนรอยเมืองรือเสาะ

 

                 ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ในขณะที่เส้นทางคมนาคมทางบกยังไม่มี ผู้คนในสมัยนั้นได้หลักแหล่งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำ และอาศัย เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำโดยใช้แม่น้ำสายบุรีเป็นเส้นทางหลัก  สินค้าที่ล่องมาจากปากแม่น้ำสายบุรีที่สำคัญ คือ เกลือ  ส่วนสินค้าที่ล่องกลับไป ได้แก่ของป่า  อาทิเช่น  งาช้าง  เครื่องหอม  เครื่องเทศ  ไม้จันทร์หอมและไม้ต่างๆ  เมืองเดิมขณะนั้นมีฐานะเป็นเพียง ตำบลซึ่งมีชื่อเรียกว่า  ตำบลตำมะหงัน  โดยอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอตันหยงมัส (อำเภอระแงะในปัจจุบัน)                   

                 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2460 ตำบลตะมะหงัน  มีความเจริญขึ้น  ทางราชการจึงได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ตำมะหงัน และมีที่ว่าการกิ่งอำเภอแห่งแรกตั้งอยู่ที่ บ้านตะโละบาโย (หาดม้า) ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน 5 กิโลเมตร  โดยมี ขุนอุปการประชากร  เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอตำมะหงันคนแรก  สำหรับปูชนียบุคคล รุ่นบุกเบิกในสมัยนั้นมี 2 ท่านด้วยกันคือ ขุนอุปการประชากร และขุนสารกิจโดยขุนอุปการประชากร เป็นชาวไทย- พุทธครอบครองที่ฝั่งตะวันออก และเป็นต้นตระกูล “ อัครมาส ”    ส่วนขุนสารกิจนั้นเป็นชาวไทยมุสลิม ครอบครองที่ดิน ฝั่งตะวันตก และมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลตำมะหงัน เป็นต้นตระกูล “ ซันดือเระโซ๊ะ ”  บุคคลทั้งสองท่านมีส่วนสำคัญ อย่างยิ่งในการวางรากฐานของเมืองรือเสาะ เป็นผู้สร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากมายมาจนถึงปัจจุบัน

 

ขุนอุปการประชากร

                  เนื่องจากขุนอุปการประชากรเป็นชาวไทยพุทธจึงเป็นผู้สร้างวัดราษฎร์สโมสร  และสละทรัพย์สิน  ที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียนบ้านยะบะ (อุปการวิทยา)  ถนน  และสถานที่ราชการต่างๆ  ส่วนขุนสารกิจเป็นชาวไทยมุสลิม   เป็นผู้สร้างมัสยิดยุมอียะห์  ซึ่งคือมัสยิดกลางของอำเภอรือเสาะ จนถึงปัจจุบัน 

                  ปัจจุบันสถูปของขุนอุปการประชากร   ยังคงมีให้ลูกหลานได้เคารพกราบไหว้ ณ วัดราษฎร์สโมสร ส่วนหลุมฝังศพของขุนสารกิจนั้น อยู่ บริเวณด้านหลังของมัสยิดยุมอียะห์ ทั้งสองได้ให้กำเนิดลูกหลานและสร้างความเจริญให้กับอำเภอรือเสาะเพื่อสืบสานความตั้งใจของท่านที่ต้องการ ให้อำเภอรือเสาะมีความเจริญและความสงบสุขตลอดไป
                  ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชการที่ 5 ได้ทรงโปรดให้มีการตัดเส้นทางรถไฟสายใต้ไปจนถึงอำเภอสุไหง-โกลก โดยมีวิศวกรชาวอังกฤษเป็นช่าง ใหญ่ เส้นทางรถไฟสายนี้พาดผ่านอำเภอตำมะหงันที่บริเวณบ้านยะบะหรือบริเวณหมู่ที่ 1ตำบลรือเสาะออกในปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย ชุมชนเดิมจากบ้านตะโละบาโยมายังบริเวณบ้านยะบะหรือเมืองรือเสาะในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อจากกิ่งอำเภอตำมะหงันเป็นกิ่งอำเภอรือเสาะแต่ยัง คงขึ้นอยู่กับอำเภอระแงะเช่นเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ.2482 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอรือเสาะขึ้นเป็นอำเภอรือเสาะ และอยู่ ในเขตปกครองของจังหวัดนราธิวาส โดยมีนายชำนาญ  มรรคา ดำรงตำแหน่งนายอำเภอรือเสาะเป็นคนแรกและอาณาเขตของอำเภอรือเสาะ ในสมัยแรกนั้นครอบคลุมการปกครองไปจนถึงอำเภ ศรีสาครในปัจจุบัน
                  คำว่า “รือเสาะ” เป็นภาษามลายู   แปลว่า  ต้นสักน้ำเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งซึ่งมีในทางภาคใต้   ปัจจุบันยังมีให้เห็นกันอยู่  เช่น  ที่บ้านรือเสาะ ตำบลรือเสาะ และที่ป่าพรุโต๊ะแดง อำเภอสุไหงโก-ลก แต่เดิมบ้านรือเสาะมีพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาก นอกจากการเรียกชื่ออำเภอรือเสาะ แล้ว ชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่ออำเภอนี้ว่าอำเภอยะบะซึ่งคำว่า “ยะบะ” หมายถึง การแสดงคารวะโดยการจับมือกัน  อันเป็นการแสดงไมตรีจิต   อำเภอยะบะจึงมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่าเป็นอำเภอที่ผู้คนมีไมตรีจิตต่อกัน
                                      

      ต้นรือเสาะ                                                                มัสยิดยุมอียะห์

 

สุสานฝังศพ (กูโบร์) ขุนสารกิจ

2  3  4  5 >>