24 เมษายน 2024

ประวัติอำเภอรือเสาะ

ย้อนรอยเมืองรือเสาะ

ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ในขณะที่เส้นทางคมนาคมทางบกยังไม่มี ผู้คนในสมัยนั้นได้หลักแหล่งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำ และอาศัย เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำโดยใช้แม่น้ำสายบุรีเป็นเส้นทางหลัก  สินค้าที่ล่องมาจากปากแม่น้ำสายบุรีที่สำคัญ คือ เกลือ  ส่วนสินค้าที่ล่องกลับไป ได้แก่ของป่า  อาทิเช่น  งาช้าง  เครื่องหอม  เครื่องเทศ  ไม้จันทร์หอมและไม้ต่างๆ  เมืองเดิมขณะนั้นมีฐานะเป็นเพียง ตำบลซึ่งมีชื่อเรียกว่า  ตำบลตำมะหงัน  โดยอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอตันหยงมัส (อำเภอระแงะในปัจจุบัน) จนกระทั่งในปี พ.ศ.2460 ตำบลตะมะหงัน  มีความเจริญขึ้น  ทางราชการจึงได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ตำมะหงัน และมีที่ว่าการกิ่งอำเภอแห่งแรกตั้งอยู่ที่ บ้านตะโละบาโย (หาดม้า) ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน 5 กิโลเมตร  โดยมี ขุนอุปการประชากร  เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอตำมะหงันคนแรก  สำหรับปูชนียบุคคล รุ่นบุกเบิกในสมัยนั้นมี 2 ท่านด้วยกันคือ ขุนอุปการประชากร และขุนสารกิจโดยขุนอุปการประชากร เป็นชาวไทย- พุทธครอบครองที่ฝั่งตะวันออก และเป็นต้นตระกูล “ อัครมาส ”    ส่วนขุนสารกิจนั้นเป็นชาวไทยมุสลิม ครอบครองที่ดิน ฝั่งตะวันตก และมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลตำมะหงัน เป็นต้นตระกูล “ ซันดือเระโซ๊ะ ”  บุคคลทั้งสองท่านมีส่วนสำคัญ อย่างยิ่งในการวางรากฐานของเมืองรือเสาะ เป็นผู้สร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากมายมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากขุนอุปการประชากรเป็นชาวไทยพุทธจึงเป็นผู้สร้างวัดราษฎร์สโมสร  และสละทรัพย์สิน  ที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียนบ้านยะบะ (อุปการวิทยา)  ถนน  และสถานที่ราชการต่างๆ  ส่วนขุนสารกิจเป็นชาวไทยมุสลิม   เป็นผู้สร้างมัสยิดยุมอียะห์  ซึ่งคือมัสยิดกลางของอำเภอรือเสาะ จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันสถูปของขุนอุปการประชากร   ยังคงมีให้ลูกหลานได้เคารพกราบไหว้ ณ วัดราษฎร์สโมสร ส่วนหลุมฝังศพของขุนสารกิจนั้น อยู่ บริเวณด้านหลังของมัสยิดยุมอียะห์ ทั้งสองได้ให้กำเนิดลูกหลานและสร้างความเจริญให้กับอำเภอรือเสาะเพื่อสืบสานความตั้งใจของท่านที่ต้องการ ให้อำเภอรือเสาะมีความเจริญและความสงบสุขตลอดไปครั้นเมื่อถึงสมัยรัชการที่ 5 ได้ทรงโปรดให้มีการตัดเส้นทางรถไฟสายใต้ไปจนถึงอำเภอสุไหง-โกลก โดยมีวิศวกรชาวอังกฤษเป็นช่าง ใหญ่ เส้นทางรถไฟสายนี้พาดผ่านอำเภอตำมะหงันที่บริเวณบ้านยะบะหรือบริเวณหมู่ที่ 1ตำบลรือเสาะออกในปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย ชุมชนเดิมจากบ้านตะโละบาโยมายังบริเวณบ้านยะบะหรือเมืองรือเสาะในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อจากกิ่งอำเภอตำมะหงันเป็นกิ่งอำเภอรือเสาะแต่ยัง คงขึ้นอยู่กับอำเภอระแงะเช่นเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ.2482 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอรือเสาะขึ้นเป็นอำเภอรือเสาะ และอยู่ ในเขตปกครองของจังหวัดนราธิวาส โดยมีนายชำนาญ  มรรคา ดำรงตำแหน่งนายอำเภอรือเสาะเป็นคนแรกและอาณาเขตของอำเภอรือเสาะ ในสมัยแรกนั้นครอบคลุมการปกครองไปจนถึงอำเภ ศรีสาครในปัจจุบัน คำว่า “รือเสาะ” เป็นภาษามลายู   แปลว่า  ต้นสักน้ำเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งซึ่งมีในทางภาคใต้   ปัจจุบันยังมีให้เห็นกันอยู่  เช่น  ที่บ้านรือเสาะ ตำบลรือเสาะ และที่ป่าพรุโต๊ะแดง อำเภอสุไหงโก-ลก แต่เดิมบ้านรือเสาะมีพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาก นอกจากการเรียกชื่ออำเภอรือเสาะ แล้ว ชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่ออำเภอนี้ว่าอำเภอยะบะซึ่งคำว่า “ยะบะ” หมายถึง การแสดงคารวะโดยการจับมือกัน  อันเป็นการแสดงไมตรีจิต   อำเภอยะบะจึงมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่าเป็นอำเภอที่ผู้คนมีไมตรีจิตต่อกัน

 

 

ต้นรือเสาะ 

 มัสยิดยุมอียะห์

สุสานฝังศพ (กูโบร์) ขุนสารกิจ

เมื่อวันนั้นของรือเสาะ

 คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าเมื่อ 40-50 ปีก่อน  รือเสาะมีความเจริญทางเศรษฐกิจรุ่งเรืองสูงสุดเพราะมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและปลอดภัย คือทางรถไฟ การเดินทางสมัยนั้นนอกจากทางรถไฟแล้ว ก็มีการเดินทางเท้าโดยใช้ช้างเป็นหลัก รือเสาะในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลาง ทางการค้าและการคมนาคมขนส่งมีสินค้าขาเข้าที่สำคัญ  คือ เครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ประจำวัน วัสดุก่อสร้าง   และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ   ส่วนสินค้าออกหลักคือ ยางพารา  ไม้  เครื่องเทศ  และของป่าต่างๆ อาทิเช่น  งาช้าง  สมัยนั้นรือเสาะเป็นแหล่งขุดทองของผู้คนจากต่างถิ่น  มีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยและทำมาค้าขายในรือเสาะมากมาย ส่วนคนอีสาน ก็อพยพเข้ามาขายแรงงานเป็นลูกจ้างในสวนยางพาราจำนวนมากกล่าวกันว่าในสมัยนั้นขณะที่ยางพาราราคากิโลกรัมละ 20 บาท  แต่ทองคำมีราคาเพียงบาทละ 400 บาทเท่านั้นดังนั้นคนรือเสาะจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจทีค่อนข้างดี  สำหรับศูนย์กลางทางการค้าอยู่บริเวณสี่แยกหน้าสถานีรถไฟ  ซึ่งยังคงมีอาคารที่ให้เห็นอยู่  เช่น โรงแรมกหยวน  ปัจจุบันเป็นร้านค้าตรงหัวมุมถนน (บริเวณสี่แยกหน้าสถานีรถไฟระหว่างถนนสารกิจตัดกับถนนอุปการวิถี1) โรงแรมโกเต็ก, โรงแรมกงหลี, บ้านหะยีมานคาน และร้านค้าบริเวณถนนอุปการวิถี1ตัดกับถนนสารกิจ ร้านค้าที่ยังคงเหลือให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ร้านลี้น่ำเฮง บริเวณสถานีขนถ่าย สินค้าในสมัยนั้นเรียกว่าสถานีช้างคือบริเวณใต้ต้นมะขาม ซึ่งอดีตเป็นจุดรวมของช้าง ซึ่งใช้เป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้า ไปส่งตามกลุ่มบ้านต่างๆ

ร้านลี้น่ำเฮง 

ใต้ต้นมะขาม อดีตสถานีช้าง

ข้อมูลทั่วไปของอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

1.สภาพทั่วไป

1.1 ลักษณะที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอรือเสาะ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลรือเสาะออก เป็นหนึ่งใน 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส  อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดนราธิวาส    ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  47 กิโลเมตร

1.2 เนื้อที่ อำเภอรือเสาะมีเนื้อที่ประมาณ  468.32  ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 292,702.5 ไร่

 

1.3 อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ  ติดต่อกับอำเภอรามัน จังหวัดยะลาและอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอศรีสาคร และอำเภอระแงะจังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอยี่งอ และอำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบันนังสตา และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา

1.4 ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่ โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ สภาพดินโดยทั่วไปเป็น ดินร่วนปนทราย   มีพื้นที่ภูเขามากอยู่ทางทิศตะวันตกและทางทิศใต้ของอำเภอ  มีแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน

1.5 ภูมิอากาศ

ลักษณะทางภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 2 ฤดู คือ
ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่  เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน
ฤดูฝน  เริ่มตั้งแต่  เดือนกรกฎาคม – เดือนกุมภาพันธ์

1.6 การปกครอง

แบ่งการปกครองตามพรบ.ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2547 แบ่งการปกครองเป็น  9  ตำบล   72 หมู่บ้าน ดังนี้

ลำดับ ตำบล จำนวนหมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ (ตารางกิโลเมตร)
1 รือเสาะ 10 63.501
2 รือเสาะออก 5 41.67
3 สาวอ 7 40.681
4 สามัคคี 9 40.627
5 สุวารี 8 61.571
6 ลาโละ 9 59.533
7 บาตง 8 65.486
8 เรียง 8 39.638
9 โคกสะตอ 8 55.564
รวม 72 468.324

การปกครองส่วนท้องถิ่น  แบ่งออกเป็น 1 เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล 9 แห่ง ดังนี้
      องค์การบริหารส่วนตำบลรือเสาะ
      องค์การบริหารส่วนตำบลรือเสาะออก
      องค์การบริหารส่วนตำบลสุวารี
      องค์การบริหารส่วนตำบลสามัคคี
      องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะตอ
      องค์การบริหารส่วนตำบลบาตง
      องค์การการบริหารส่วนตำบลสาวอ
      องค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ
      องค์การบริหารส่วนตำบลเรียง

1.7  ครัวเรือน

มีครัวเรือนทั้งหมด  9,179  ครัวเรือน
ครัวเรือนเกษตรกร  8,492  ครัวเรือน
ครัวเรือนอื่น ๆ           687  ครัวเรือน

2.สภาพทางเศรษฐกิจ

2.1 การเกษตรกรรม

อำเภอมีพื้นที่ทั้งหมด 292,702.5 ไร่ พื้นที่ถือครอง 258,703 ไร่ พื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร 201,598 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 194,909 ไร่ พื้นที่อื่นๆ 33,996.12 ไร่ ครอบครัวเกษตร จำนวน 8,492 ครัวเรือน สภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญๆ แยกได้เป็น

ทำนา
      เนื้อที่นาทั้งหมด                                                           13,170                   ไร่
      เนื้อที่นา (จริง)                                                             10,313                   ไร่
      เนื้อที่นาร้าง                                                                  2,857                    ไร่
ไม้ผล
      เนื้อที่ปลูกไม้ผลทั้งหมด                                                12,014                   ไร่
      ลองกอง                                                                         4,838                   ไร่          
      เงาะ                                                                              1,053                   ไร่
      มังคุด                                                                               524                   ไร่
      ทุเรียน                                                                          2,688                    ไร่
      ไม้ผลอื่น ๆ                                                                    2,901                    ไร่
ไม้ยืนต้น
      เนื้อที่ปลูกไม้ยืนต้นทั้งหมด                                         167,868                    ไร่
      ยางพารา                                                                   161,487                    ไร่
      มะพร้าว                                                                         1,715                    ไร่
      ปาล์มน้ำมัน                                                                       131                    ไร่
      ไม้ยืนต้นอื่น ๆ                                                                4,535                    ไร่
เนื้อที่ปลูกพืชไร่-พืชผักทั้งหมด                                 2,022                    ไร่          
เนื้อที่อื่น ๆ                                                         33,996.12              ไร่

2.2 การอุตสาหกรรม

มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตดำเนินการและประกอบการ จำนวน 4 แห่ง ดังนี้
ตำบลรือเสาะ        มีโรงงานรมควันยาง  จำนวน  3  แห่ง
ตำบลสาวอ            มีโรงงานรับซื้อและแปรรูปไม้ยาง  จำนวน  1  แห่ง

2.3 การพาณิชย์

–  มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่  จำนวน  3  แห่ง
–  มีธนาคาร  จำนวน  3  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารออมสิน  ธนาคารกสิกรไทย  ธกส.
–  มีสหกรณ์จำนวน  1  แห่ง  ได้แก่  สหกรณ์อำเภอรือเสาะ

2.4 การท่องเที่ยว

มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ หนองบัวบากง หาดม้า น้ำตกยือลาแป สวนกาญจนาภิเษก และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ECOTOURISM)  ชมนกเงือกเทือกเขา รือเสาะ-ยี่งอ-บาเจาะ

 

3.สภาพทางสังคม

3.1 การศึกษา

ข้อมูลด้านการศึกษา

สถานศึกษาสังกัด สปช. จำนวน 40 โรงเรียน 424 ห้องเรียน ครู 385 คน นักเรียน 10,610   คน
สถานศึกษาสังกัด สศ. จำนวน 2 โรงเรียน 18 ห้องเรียน ครู 42 คน นักเรียน 672 คน
สถานศึกษาสังกัด สช. จำนวน 6 โรงเรียน 67 ห้องเรียน ครู 118 คนนักเรียน 2,254 คน
รวม โรงเรียน 48 โรงเรียน ห้องเรียน 509 ห้องเรียน ครู 545 คน นักเรียน 13,566 คน
*โรงเรียนกันดาร  ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเบี้ยกันดาร 2524 จำนวน 24 โรง

3.2 การศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

 –  ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 91 % ศาสนาพุทธ ประมาณ 8 % และศาสนาอื่น ๆ ประมาณ 1 %มีสถาบันหรือองค์กรทางศาสนา

    วัด ที่พักสงฆ์            จำนวน  5    แห่ง
    มัสยิด                      จำนวน  70  แห่ง

3.3 การสาธารณสุข

มีการให้บริการด้านการสาธารณสุข โดยมีสถานบริการ ดังนี้

1. โรงพยาบาลขนาด 60 เตียง จำนวน 1 แห่ง
2. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จำนวน 1 แห่ง
3. สถานีอนามัย จำนวน 15 แห่ง
4. หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง จำนวน 1 แห่ง
5. คลินิกแพทย์เอกชน จำนวน 2 แห่ง
6. คลินิกผดุงครรภ์ จำนวน 1 แห่ง
7. ร้านขายยาแผนปัจจุบัน จำนวน 2 แห่ง
8. ร้านขายยาบรรจุเสร็จ จำนวน 3 แห่ง

3.4 การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

มีสถานีตำรวจภูธรอำเภอ/ตำบล จำนวน 1 แห่ง

3.5 การสาธารณูปโภค

มีการประปาระดับอำเภอและตำบล หมู่บ้าน ดังนี้

–     การประปาส่วนภูมิภาค  จำนวน  2  แห่ง  ไดแก่  การประปาส่วนภูมิภาคยือราแป และการประปาส่วนภูมิภาครือเสาะ
–     แหล่งน้ำกิน-น้ำใช้  ประเภทอื่น
–     บ่อน้ำบาดาล                          จำนวน  102   บ่อ
–     บ่อน้ำตื้น                                จำนวน  138   บ่อ
–     ถังเก็บน้ำ                                จำนวน   71    แห่ง
–     โอ่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน   21    ใบ

4.ทรัพยากรธรรมชาติ

4.1 ทรัพยากรดิน

–  สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย

4.2 ทรัพยากรน้ำ

– มีแม่น้ำสายบุรี 1 สาย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี อำเภอสุคีริน ไหลผ่านอำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร และอำเภอรือเสาะ  โดยผ่านตำบลรือเสาะ ตำบลเรียง และตำบลสาวอ รวมระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ ฝายน้ำล้นและอื่น ๆ อีก 50 แห่ง

4.3 ทรัพยากรป่าไม้

–  อำเภอรือเสาะ  มีพื้นที่ป่าที่สำคัญ ได้แก่ป่าสงวนแห่งชาติ 1 แห่ง คือ ป่า ปริลยอ มีพื้นที่ 34,375 ไร่